วันจันทร์ที่ 6 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

เทคนิคการเพาะพันธุ์ปลา

เทคนิคการเพาะพันธุ์ปลา        

                การเพาะพันธุ์ปลาจะได้รับผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด   ขึ้นกับปัจจัยดังนี้
                 9.1 การคัดพ่อแม่พันธุ์   ปลาที่จะนำมาเพาะจะต้องเป็นปลาที่มีไข่แก่แล้วเท่านั้น   คือมีรังไข่อยู่ในขั้นพักตัว (Resting  Stage)   มิใช่ว่าปลาที่มีการตั้งท้องทุกตัว(คือเห็นส่วนท้องขยายออก)จะนำมาใช้เพาะได้ทั้งหมด   ผู้เพาะจะต้องรู้จักวิธีการคัดปลาที่มีไข่แก่พร้อมที่จะผสมพันธุ์   ซึ่งส่วนใหญ่จะอาศัยดูจากติ่งเพศ   ปลาที่มีไข่แก่จะมีการขยายตัวของติ่งเพศ   และส่วนท้องขยายนิ่ม   ทั้งนี้จะต้องขึ้นกับประสบการณ์   ความชำนาญ   และความช่างสังเกตุของผู้เพาะพอสมควร   
                 9.2 การเลี้ยงพ่อแม่พันธุ์ปลา  เนื่องจากปลาสวยงามมักได้รับการเลี้ยงดูเอาใจใส่อย่างดี   โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีระบบกรองน้ำที่ดี   ทำให้คุณภาพน้ำค่อนข้างดีอยู่ตลอดเวลา   ดังนั้นเมื่อแยกปลาไปลงบ่อเพาะ   น้ำใหม่ในบ่อเพาะจึงไม่สามารถกระตุ้นให้ปลาวางไข่ได้   เพราะสภาพน้ำในบ่อเลี้ยงและบ่อเพาะไม่มีความแตกต่างกัน   ดังนั้นปลาที่จะเตรียมหรือเลี้ยงเพื่อเป็นพ่อแม่พันธุ์ไว้เพาะพันธุ์   ควรจะเลี้ยงไว้ในลักษณะที่คุณภาพน้ำไม่ดีมากนัก   เช่น   เปลี่ยนเครื่องกรองน้ำเป็นแบบ Box  Filter   ซึ่งพอช่วยกรองน้ำได้บ้างพร้อมเพิ่มออกซิเจนไปในตัว   และงดการถ่ายน้ำก่อนการเพาะประมาณ  1  เดือน   จะทำให้ปลามีความรู้สึกว่าสภาพน้ำในบ่อเลี้ยงไม่ดีนัก   เพราะจะมีสารประกอบไนโตรเจนที่เกิดจากการหมักหมมและสิ่งขับถ่ายมากขึ้น   เมื่อคัดปลาไปลงบ่อเพาะซึ่งเป็นน้ำใหม่มีคุณภาพดีกว่ามาก   จะทำให้ปลามีความรู้สึกเหมือนกับการได้รับน้ำใหม่ในช่วงฤดูฝน   จึงทำให้ปลาเกิดการวางไข่ได้อย่างง่ายดาย  
                 9.3 วิธีการคัดพ่อแม่พันธุ์   ต้องทำด้วยความระมัดระวัง   ให้ปลามีความบอบช้ำน้อยที่สุด   และควรงดให้อาหารปลา   ก่อนการคัดประมาณ  4 - 6  ชั่วโมง   เพื่อป้องกันความผิดพลาดจากการขยายตัวของท้องเนื่องจากปริมาณอาหารที่กินเข้าไป   
                 9.4 การเตรียมบ่อเพาะ  จะต้องให้มีความพร้อมที่ปลาต้องการในการวางไข่ให้มากที่สุด   เช่น  ปลาทอง   ปลาคาร์พ   ปลาเสือสุมาตรา   ปลาเซเป้   ในธรรมชาติจะวางไข่บริเวณผิวน้ำ   ในบ่อเพาะจึงควรเตรียมรังลอยใกล้ผิวน้ำ ปลาดุก   ปลาแขยง   ปลากด   ในธรรมชาติจะวางไข่ตามบริเวณพื้นก้นบ่อ   ในบ่อเพาะจึงควรเตรียมรังอยู่ก้นบ่อ   นอกจากนั้นระดับน้ำในบ่อเพาะสำหรับการเพาะปลาสวยงาม   ไม่ควรเกินกว่า  30  เซนติเมตร          
                 9.5 การเพิ่มลม  จะให้ลมแรงมากน้อยเพียงใดต้องดูจากพฤติกรรมการวางไข่ในธรรมชาติของปลาแต่ละชนิด   ปลาที่ไข่ทิ้งโดยเฉพาะพวกที่มีไข่ครึ่งลอยครึ่งจมจะต้องการลมแรง   มีการหมุนเวียนของน้ำยิ่งมากยิ่งดี   แต่ปลาที่มีการจับคู่สร้างรังและมีการดูแลรักษาไข่   จะต้องการความสงบไม่ต้องการให้มีการไหลของน้ำ   ควรเปิดลมเบาๆเพื่อเป็นการเพิ่มออกซิเจนเท่านั้น
                 9.6 การเพิ่มน้ำ   หากสามารถทำน้ำไหลหรือทำฝนเทียมเลียนแบบธรรมชาติ   ก็จะยิ่งทำให้ปลาวางไข่ได้ดีขึ้น   และจะมีอัตราการผสมค่อนข้างดีด้วย   เพราะการระบายน้ำจะช่วยไล่ความคาวหรือเมือกที่เกิดขึ้นในขณะที่ปลาวางไข่ออกไปด้วย    
                 9.7 การเลือกใช้ฮอร์โมน   ถ้าหากเป็นปลาที่จำเป็นต้องฉีดฮอร์โมนกระตุ้น   ก็ควรเลือกชนิดฮอร์โมนให้เหมาะสม   สำหรับปัจจุบันการใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์จะสะดวกและให้ผลดี   นอกจากนั้นยังต้องเลือกวิธีการให้เหมาะสมด้วย   ต้องศึกษาว่าปลาชนิดใดใช้วิธีการฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการแพร่พันธุ์วางไข่ได้   และปลาชนิดใดจะฉีดฮอร์โมนเพื่อกระตุ้นการตกไข่   เพื่อจะทำให้สามารถดำเนินการจัดเตรียมบ่อเพาะและอุปกรณ์ต่างๆได้ถูกต้อง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น